รู้จักกับไม้หอมที่แพงที่สุดในโลก
ไม้หอมกฤษณา มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ ได้แก่ agarwood (ยุโรป), aloeswood (สิงคโปร์), eaglewood (สหรัฐอเมริกา),gaharu (อินโดนีเชีย), oudh (อาหรับ), tram (เวียดนาม), jinko (ญี่ปุ่น), chen xiang (จีน) เป็นต้น
ไม้ในสกุลกฤษณา ชื่อวิทยาศาสตร์คือThymelaeaceae Genus: Aquilaria เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21 เมตร ขึ้นไป ถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย มีปรากฏอยู่ทั่วโลกประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในเอเชียเขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในประเทศไทยพบได้ 4 ชนิด คือ Aquilaria baillonil, A. crassna Pierre, A. malaccensis Lamk. (ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง A. agallocha Roxb.) และชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบโดย Dr. Ding Hau คือ A. subintegra Ding Hau ไม้กฤษณาชนิดที่ดีที่สุดในโลกนั้น พบหลักฐานในสมัยอยุธยา ในจดหมายของบริษัทอินเดียตะวันออก พ.ศ. 2222 ระบุว่าคือไม้หอมกฤษณาจากบ้านนา (Agillah Bannah) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก ชนิดนี้พบมากแถวบริเวณกัมพูชา
ความนิยมอย่างยาวนาน ไปจนถึงบรรณาการชนชั้นสูง
ไม้กฤษณา เป็นไม้ที่ถูกกล่าวถึงตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถูกจัดส่งในฐานะเป็นเครื่องราชบรรณาการ และเป็นสินค้าส่งออกตั้งแต่สมัยอยุธยาจากไทยไปจีน และในบางประเทศ จึงเป็นสินค้าต้องห้ามสำหรับคนทั่วไปในบางพื้นที่ ถึงขนาดมีการตรากฎหมายให้เป็นสินค้าที่ค้าขายได้เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น
เกรด 1 หรือที่เรียกว่า "ไม้ลูกแก่น" ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า "True agaru" เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้มีสีดำ มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำหรือหนักกว่าจึงทำให้จมน้ำได้ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นจันทน์หิมาลัยและอำพันขี้ปลา เมื่อนำมาเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม (ราคา 15,000-20,000 บาท/กิโลกรัม)[2],[3]
เกรด 2 เกรดนี้จะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา ต่างประเทศจะเรียกว่า "Dhum"โดยสีเนื้อไม้จะจางออกน้ำตาล และมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น (ราคา 8,000-10,000 บาท/กิโลกรัม)[2],[3]
เกรด 3 มีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หรือมีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 1,000-1,500 บาท/กิโลกรัม)[2]
เกรด 4 หรืออาจเรียกว่า "ไม้ปาก" เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย มีน้ำหนักเป็น 0.39 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 400-600 บาท/กิโลกรัม)[2]
ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีน้ำมันสะสมอยู่เลย จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำเช่นเดียวกัน[2]
Kommentare